9 ฐานเรียนรู้
ความรู้ที่น่าสนใจ (Documents on web)
ติดต่อเรา
มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ
เลขที่ ๑๑๔ ซอย บี ๑๒ หมู่บ้านสัมมากร สะพานสูง กรุงเทพฯ ๑๐๒๔๐
สำนักงาน ๐๒-๗๒๙๔๔๕๖ (แผนที่)
ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ มาบเอื้อง 038-198643 (แผนที่)
User login
ลิงค์เครือข่าย
“หนึ่งโหลโสถิ่ม” พลังกสิกรรมธรรมชาติอีสานกอดคอสร้างฐาน 4 พอ (1)
ช่วงระยะหนึ่งปีมานี้ อาจารย์ยักษ์รู้สึกได้กับเรื่องของภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นกับคนไทยชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ทั้งภัยพิบัติธรรมชาติ ทั้งโรคระบาด ทั้งความอดอยาก ทั้งความขัดแย้งทางความคิดซึ่งจะลุกลามเป็นปัญหาของสังคมในอนาคต และได้ลุกขึ้นชักชวนสมาชิกในเครือข่ายช่วยกันขบคิดหาทางที่จะป้องกันปัญหาหรือแม้ว่าหากป้องกันไม่ได้ก็ควรจะได้คิดว่าท่ามกลางสภาวการณ์เช่นนี้ “จะอยู่กับมันได้อย่างไร”
เป้าหมายของการชวนกันมาช่วยขบคิดก็คือหากเกิดสถานการณ์ต่างๆ จะมีทางใดที่จะเตรียมการเพื่อให้ได้รับผลของปัญหานั้นน้อยที่สุด แม้ว่าอาจจะอยู่กับมันไม่ได้จำเป็นต้องหนี ก็ต้องหนี ไม่จำเป็นต้องสู้จนตัวตายแต่ต้องเอาตัวรอดให้ได้ ตัวอย่างภัยน้ำท่วมคราวที่แล้วเป็นตัวอย่างที่ดี บางคนก็ทราบเหตุการณ์ล่วงหน้า เตรียมตัว เตรียมใจแล้วก็อยู่กับมันได้ บางคนอยู่ไม่ได้ก็หนี อพยพไปหาที่พักพิงใหม่ๆ ไปหาที่อยู่อาศัยใหม่ ปีนี้มาเจอกับภัยพิบัติแล้งอย่างหนัก แถมด้วยแผ่นดินไหวอีก โรคระบาดก็ตามมากันเนืองๆ จนกลายเป็นภัยประจำปีประจำฤดูกาล ก็ต้องมาขบคิดหาทางอยู่กับมัน หรืออีกสองภัยที่น่ากลัวนอกจากความอดอยากจากภัยแล้งก็คือภัยจากความขัดแย้งต่างๆ ที่คุกรุ่นกันขึ้นมาเรื่อยๆ ทั้งการแย่งทรัพยากรธรรมชาติ แย่งน้ำ แย่งที่ดิน รวมทั้งแย่งอำนาจกันถือครองก็จะกลายเป็นเรื่องใหญ่โตกระทบถึงทุกคน ทุกภาคส่วนไม่มีใครหนีพ้น
สองเรื่องที่อาจารย์ยักษ์คิดว่าน่าจะทำได้ในระยะนี้และได้ผลเร็วคือการ “เตือนภัย” บอกกล่าวให้ลูกศิษย์ ลูกหาที่เชื่อว่าเขาน่าจะฟังเราบ้าง เชื่อเราบ้าง ได้เตรียมพร้อมรองรับภัยพิบัติต่างๆ เพราะไม่ว่าจะเป็นผู้ดี ขี้ข้า มีการศึกษาน้อยหรือมีการศึกษามาก แม้แต่เป็นเด็ก ผู้ใหญ่ เป็นนักบวช เป็นอะไรก็ตาม ก็คงไม่พ้นที่จะได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นนี้ และเป็นภัยที่มนุษย์ทำขึ้นเองทั้งสิ้น
ปีนี้อาจารย์ยักษ์เลยตัดสินใจชักชวน บรรดาผู้เฒ่า ผู้แก่ของเครือข่าย ออกเยี่ยมเยียนให้กำลังใจลูกศิษย์ลูกหา ที่มาเรียนรู้จากศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้องแล้วไปทำให้เกิดเป็นรูปธรรมสัมผัสได้จริงสามารถสร้างความพอเพียงความมั่งคั่งใหม่ให้แก้ชีวิตได้ จนสามารถพัฒนาเป็นศูนย์กสิกรรมธรรมชาติกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ บรรดาอาจารย์และผู้เฒ่าของเครือข่ายก็อยากเห็นว่าลูกศิษย์ ลูกหาแต่ละศูนย์ได้พัฒนาตัวเองมารับมือกับภัยพิบัติได้ขนาดไหนแล้ว และเป็นกำลังใจให้พัฒนาให้เก่งยิ่งๆ ขึ้นไป
การเดินทางคราวนี้เรียกว่า “ทัวร์อีสาน” ก็ใช้เวลาเป็น 10 วันเดินทางไปเยี่ยมทุกศูนย์ได้พูดคุยกับผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายภาคอีสานทุกศูนย์ ไปกระตุ้นเตือนให้เครือข่ายเราเร่งพัฒนาตนเองให้แข็งแรงยิ่งขึ้น เพราะจากสถานการณ์ตอนนี้ก็พอจะบอกได้ว่า เครือข่ายเรานั้นนอกจากที่จะต้องเป็นที่พึ่งตนเองได้แล้วก็ยังจะต้องเร่งพัฒนาให้เป็นที่พึ่งของคนอื่นที่ยังพึ่งตนเองไม่ได้ ต้องพร้อมเป็นตัวอย่างในการรับมือภัยพิบัติไม่ว่าจะเป็นภัยแล้งอย่างหนัก ภัยหนาวอย่างหนัก ไฟไหม้ป่า หรือภัยอะไรก็ตามเราจะต้องอยู่กับมันให้ได้และเป็นที่พึ่งให้กับคนอื่นให้ได้ เช่น ถ้าอยู่บนที่สูง อยู่บนภูเขา ต้องเป็นผู้นำชาวบ้านทำให้เห็นชัดว่าอยู่บนภูจะสู้กับภัยพิบัติหมอกควันได้อย่างไร เพราะทุกปีก็จะมีไฟไหม้ป่า ไฟไหม้ภูเขาไม่วายเว้น เกิดฤดูหมอกควันกันทุกปี และจะหนักยิ่งขึ้นเพราะประชาชนถูกหลอกให้ทำลายภูเขาเพื่อปลูกพืชเดี่ยวซึ่งตอนนี้ไม่มีอะไรฮิตเกินกว่าปลูกยางพารา ซึ่งเป็นการร่วมมือกันส่งเสริมจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะภาคเอกชนที่มีประสบการณ์ มีทุน มีฐานะในการปลูกยาง ก็พากันไปบุก ไปซื้อที่บนเขาภาคอีสานเพื่อปลูกยางกันไปทั้งภูเขา เฉพาะจังหวัดเลยตอนนี้ก็มีข้อมูลว่าปลูกยางกันเกินกว่าครึ่งหนึ่งของพื้นที่เกษตรที่มีแล้ว
หลายคนคงสงสัยว่าปลูกยางไม่ดีอย่างไร อย่างน้อยก็เพิ่มพื้นที่สีเขียว ดีเสียอีกที่จะได้เปลี่ยนเขาหัวโล้นมาเป็นภูเขาสีเขียว ก็อยากให้ปลูกต้นไม้ก็ปลูกแล้วไง มองไปทางไหนก็เขียวสวยดี เงินก็มี รายได้ก็มาจะไม่ดีตรงไหน ... ฟังแล้วก็ได้แต่ถอนหายใจ สัปดาห์หน้าจะมาเฉลย +